ถ้วยอนามัยคืออะไร ข้อดีและวิธีใช้ที่ถูกต้อง
ปัจจุบันถ้วยอนามัยกลายเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน สามารถใช้แทนผ้าอนามัยและผ้าอนามัยแบบสอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยข้อดีหลายอย่าง ใช้งานง่าย ทั้งยังปลอดภัยต่อจุดซ่อนเร้น บทความนี้จะมาเจาะลึกให้ได้ทราบกันว่าถ้วยอนามัยคืออะไร มีข้อดี และวิธีใช้งาน รวมทั้งข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อ เพื่อช่วยให้คุณสุภาพสตรีสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง
ถ้วยอนามัยคืออะไร ?
ถ้วยอนามัยเริ่มมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มักทำจากซิลิโคน ยาง หรือเทอร์โมพลาสติกอีลาสโตเมอร์ (TPE) ออกแบบมาเพื่อใช้ภายในช่องคลอดระหว่างมีประจำเดือน ถ้วยอนามัยทำหน้าที่รวบรวมเลือดประจำเดือน ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อนามัยทั่วไป เช่น ผ้าอนามัยหรือผ้าอนามัยแบบสอดที่ทำหน้าที่ดูดซับประจำเดือน โดยถ้วยอนามัยจะถูกสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อสร้างผนึกกับผนังช่องคลอด ทำให้ถ้วยอนามัยสามารถรวบรวมเลือดประจำเดือนได้นานหลายชั่วโมงขึ้นอยู่กับปริมาณ
ถ้วยอนามัยรองรับประจำเดือนได้เท่าไหร่ ?
โดยมาตรฐานถ้วยอนามัย 1 ถ้วยสามารถรองรับเลือดของประจำเดือนได้ครั้งละ 10-38 ซีซี ส่วนประจำเดือนของผู้หญิง 1 รอบจะมาไม่เกิน 80 ซีซี ต่อ 3-5 วัน แนะนำให้ถอดล้างทำความสะอาดถ้วยอนามัยทุก ๆ 4-12 ชั่วโมง
ถ้วยอนามัยทำจากวัสดุอะไร ?
โดยทั่วไปถ้วยอนามัยมักทำมาจาก ซิลิโคน หรือ ยางนิ่ม ทำให้มีความแข็งแรงทนทาน ยืดหยุ่นสูง นำมาล้างใช้ซ้ำได้ (อาจใช้ซ้ำได้นาน 5-10 ปี) บางคนเรียกว่า ผ้าอนามัยซักได้
ถ้วยอนามัยมีกี่ชนิด ?
ถ้วยอนามัยมี 2 ประเภทให้เลือก ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้งานของแต่ละบุคคล
- ชนิดสอดเข้าช่องคลอด รูปร่างคล้ายกับระฆัง สอดใส่ช่องคลอดไม่ต้องลึกมาก
- ชนิดครอบปากมดลูก รูปร่างคล้ายถ้วย สอดใส่ลึกชิดปากมดลูก
ถ้วยอนามัยมีกี่ไซส์ ?
ถ้วยอนามัยที่พอดี จะช่วยปิดผนังช่องคลอดได้แนบสนิททำให้เวลาพลิกตัว เอียงตัว หรือเคลื่อนไหวท่าทางจะไม่ทำให้เลือดประจำเดือนไหลล้นออกมา สำหรับขนาดหรือไซส์มีให้เลือกตั้งแต่ไซส์ S, M และ L ซึ่งมีข้อบ่งชี้การใช้งานดังนี้
- ไซส์ S ใช้กับหญิงวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ยังไม่เคยมีลูก
- ไซส์ M ใช้กับหญิงอายุระหว่าง 18-30 ปี ยังไม่เคยคลอดบุตรผ่านช่องคลอด
- ไซส์ L ใช้กับหญิงอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปที่เคยผ่านการคลอดบุตรด้วยวิธีตามธรรมชาติ หรือประจำเดือนมามาก
ถ้วยอนามัยมีข้อดีอย่างไร
สำหรับถ้วยอนามัยได้รับการออกแบบมาให้รองรับปริมาณประจำเดือนแทนที่จะดูดซับเข้าไป ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้มีข้อดีหลายประการ ดังนี้
- ราคาถูกผ้าอนามัยทั่วไปเมื่อเทียบกับอายุการใช้งาน เพราะสามารถนำมาล้างน้ำและใช้ซ้ำได้ ปกติถ้วยอนามัย 1 ถ้วยจะใช้ได้นานถึง 10 ปี
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ อันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน
- สวมใส่สบายและยาวนานถึง 12 ชั่วโมง/ครั้ง
- ปลอดภัย ไม่รบกวนค่า pH หรือจุลินทรีย์ในช่องคลอด ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ลดการเกิดกลิ่นของประจำเดือน เพราะประจำเดือนจะไม่ถูกปนเปื้อนกับผ้าอนามัยและความเปียกชื้น
- ป้องกันความอับชื้น ลดการอักเสบหรือติดเชื้อ ป้องกันอาการคันบริเวณกลีบน้องสาว
- สามารถทำกิจกรรม เช่น ว่ายน้ำ โยคะ หรือออกกำลังกายได้โดยไม่เปื้อนซึม
ถ้วยอนามัย ซื้อที่ไหน
สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป รวมถึงห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ร้านค้าออนไลน์ ในกรณีซื้อออนไลน์ควรระวังเรื่องมาตรฐานของสินค้าและสินค้าปลอม ที่อาจมีคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญอาจมีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นควรเลือกร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีรีวิวในเชิงบวกจากผู้เคยใช้บริการจำนวนมาก
มีวิธีสวมใส่ยังไง
เมื่อเลือกถ้วยอนามัยที่เหมาะสมได้แล้วทั้งเรื่องขนาด วัสดุที่ใช้ผลิต รวมถึงตรวจสอบผลิตภัณฑ์จนแน่ใจแล้วว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน กล่าวคือต้องแห้งสนิท ไม่มีรอยฉีกขาด รั่ว หรือเปื้อนคราบสกปรก สำหรับขั้นตอนการใส่มีดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกเข้าสู่ร่างกาย
- ย่อตัวนั่งท่ายอง ๆ หรือจะยกขาข้างหนึ่งก็ได้เช่นกัน เพื่อให้สะดวกในการใส่
- ให้พับบริเวณขอบถ้วยอนามัยให้เล็กตามความเหมาะสมของสรีระของคุณ
- สอดถ้วยอนามัยเข้าไปในช่องคลอด ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือเรียบร้อยดีถ้วยจะกางออกและแนบติดกับปากมดลูกอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่ให้ขยับหมุนอย่างเบามือเพียงเล็กน้อยก็จะเข้าที่
วิธีการเลือกซื้อถ้วยอนามัยยังไง
หากคุณเพิ่งเริ่มใช้ถ้วยอนามัย การจะเลือกให้เหมาะสมอาจเป็นเรื่องยาก แต่การพิจารณาปัจจัยสำคัญบางประการอาจช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกถ้วยอนามัยที่เหมาะสมกับคุณที่สุดได้ และควรคำนึงถึงปัจจัยสำคัญเหล่านี้
-
ขนาด
ถ้วยอนามัยมีหลายขนาด มักแบ่งเป็นขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ขนาดโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของผู้ใช้ ขนาดของช่องคลอดว่าคุณเคยคลอดบุตรทางช่องคลอดหรือไม่ และปริมาณประจำเดือนของคุณในแต่ละรอบ
-
ความแน่นและความยืดหยุ่น
ถ้วยอนามัยมีความแข็งและนุ่มแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ผลิตและราคา ถ้วยที่นิ่มกว่าอาจมอบความสบายกว่าแต่เปิดได้ยาก ในขณะที่ถ้วยที่แข็งกว่าจะเปิดได้ง่ายกว่าแต่ก็อาจก่อให้เกิดแรงกดทับ สำหรับผู้ที่มีกระเพาะปัสสาวะไวต่อสิ่งเร้า หากคุณมีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรง ถ้วยที่แข็งกว่าอาจจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้ถ้วยยุบตัว
-
ความสูงของปากมดลูก
การวัดความสูงของปากมดลูกในระหว่างมีประจำเดือนจะช่วยให้คุณเลือกถ้วยที่มีความยาวเที่หมาะสมได้ สอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดจนกว่าคุณจะสัมผัสปากมดลูกได้ (จะรู้สึกเหมือนปลายจมูกของคุณ) ดังนั้นขนาดความสั้นหรือยาวของถ้วยจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
-
วัสดุ
ถ้วยอนามัยส่วนใหญ่ทำจากซิลิโคนเกรดทางการแพทย์ ยาง หรือ TPE โดยซิลิโคนเป็นวัสดุที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และมีความทนทาน ขอแนะนำว่าควรเลือกวัสดุที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองหรืออาการแพ้
-
ประเภทและความยาวของก้าน
ถ้วยอนามัยจะมีก้านเพื่อให้ถอดออกได้ง่าย แต่ทว่าก้านบางอันยาว บางอันสั้น บางอันกลม แบน หรือเป็นปุ่ม ไม่ว่าแบบไหนควรมอบการสวมใส่ที่สบาย และคุณสามารถถอนออกได้ง่าย
-
ยี่ห้อและราคา
แบรนด์ที่มีชื่อเสียงหลายแบรนด์มักมาพร้อมกับคุณภาพที่ดี และแน่นอนว่ามีราคาที่สูงตามมาเช่นกัน อย่างไรก็ตามคุณสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้และใช้งานได้หลายปี จึงคุ้มทุนในระยะยาว
-
ปรึกษาผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับกายวิภาคของช่องคลอดหรือภาวะการมีประจำเดือน การปรึกษาสูตินรีแพทย์อาจช่วยตัดสินใจว่าแบบใดเหมาะกับความต้องการของคุณที่สุด
ข้อควรรู้เพิ่มเติมในการใช้ถ้วยอนามัย
สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มใช้ถ้วยอนามัยครั้งแรก อาจพบปัญหาระหว่างการใช้งานที่อาจเกิดขึ้นได้แก่
- การเปรอะเปื้อนของประจำเดือนมาจากการเลือกถ้วยอนามัยขนาดที่ไม่พอดีกับช่องคลอด ทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนล้น หรือเจ็บช่องคลอดได้
- ต้องสะดวกเข้าห้องน้ำ บางครั้งจำเป็นต้องทำความสะอาดบ่อยครั้ง
- ต้องมีเวลาพอสมควร การใส่หรือถอดถ้วยประจำเดือนด้วยความเร่งรีบอาจเกิดการบาดเจ็บ หรือเลอะเลือดประจำเดือนได้
- อาจพบอาการเจ็บสำหรับการใส่ครั้งแรก แต่หากใช้จนชำนาญจะรู้สึกชินไปเอง
- อาจเอาออกยาก ผู้ใช้อาจรอให้ถ้วยกักเก็บประจำเดือนมากหน่อย เพราะถ้วยจะเลื่อนต่ำลงมาทำให้เอาออกได้ง่ายมากขึ้น
- ไม่ควรใช้ในผู้ที่สวมห่วงอนามัย เพราะอาจทำให้ห่วงเลื่อนหลุดได้
- ควรฝึกปฏิบัติทั้งการใส่และถอดก่อนมีประจำเดือน หรือใช้งานจริง
- หากจำเป็นต้องเทถ้วยในห้องน้ำสาธารณะ ควรพกขวดน้ำขนาดเล็กไว้ล้าง หรือกระดาษชำระเช็ดก่อนใส่ถ้วยกลับเข้าไป
สรุป
โดยสรุปก็คือ ถ้วยอนามัย ถือเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อดูแลด้านสุขอนามัยจุดซ่อนเร้นแก่ผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน หากเลือกใช้อย่างถูกวิธี เลือกยี่ห้อที่ผ่านมาตรฐานการรับรอง ซึ่งจะช่วยเรื่องความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ลดการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่ไปรบกวนค่า pH หรือจุลินทรีย์ในช่องคลอดซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพทางเพศ นอกจากนี้ยังสามารถกักเก็บประจำเดือนได้มาก ช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เพราะสามารถใช้ซ้ำได้นานนับสิบปีหากดูแลทำความสะอาดอย่างถูกวิธี และที่สำคัญช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมากอีกด้วย เห็นแบบนี้แล้วท่านใดที่ต้องการเปลี่ยนจากใช้ผ้าอนามัยมาเป็นถ้วยอนามัยก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย