ปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิงอันตรายไหม เป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิงเป็นปัญหาที่พบบ่อยๆ โดยแสดงออกมาในรูปแบบของความรู้สึกไม่สบายหรือปวดแปลบ ๆ บริเวณท้องส่วนล่างหรืออุ้งเชิงกรานเรื่อยลงไปถึงบริเวณหัวหน่าว แม้ว่าอาการปวดประเภทนี้ดูเหมือนจะน่าตกใจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงเสมอไป ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจสาเหตุต่าง ๆ ของอาการปวดบริเวณหัวหน่าวในผู้หญิง ตั้งแต่ปัญหาทั่วไปที่ไม่ร้ายแรงไปจนถึงอาการเจ็บปวดรุนแรงที่จำเป็นต้องพบแพทย์ การทำความเข้าใจสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นและอาการข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อหาวิธีดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสมต่อไป
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิง เกิดจากสาเหตุใด
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวในผู้หญิง เป็นได้ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ปวดประจำเดือน อาหารเป็นพิษ ท้องผูก หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนถึงภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องพบแพทย์โดยด่วน เช่น เลือดออกในช่องท้อง เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดท้องประจำเดือนมาก ปวดแบบฉับพลัน ปวดบ่อยแบบไม่ทราบสาเหตุ และเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางนรีเวชได้เช่นกัน
ปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิง อาการเป็นแบบไหน
สำหรับอาการปวดที่หัวหน่าวอาจเกิดขึ้นหลายลักษณะ เช่น ปวดเสียด ปวดจี๊ด ๆ ปวดเกร็ง ปวดแปล๊บ ๆ ปวดตื้อ ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย หรือปวดเรื้อรังยาวนาน บางครั้งนานกว่า 6 เดือน มีตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ปานกลาง และรุนแรงมาก และอาจปวดลามไปที่บริเวณท้องน้อย อุ้งเชิงกราน หลัง เอว สะโพก ขาหนีบ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ได้เช่นกัน
ปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิง เป็นสัญญาณของโรคใดบ้าง
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวในผู้หญิง เกิดจากความผิดปกติของระบบภายในร่างกาย 4 ระบบ ได้แก่ ระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และระบบสืบพันธ์ ซึ่งพอจำแนกโรคที่เป็นได้ดังนี้
- โรคในระบบย่อยอาหาร
อาหารเป็นพิษ ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน ลำไส้อุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ โรคบิด ฯลฯ
- โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในไต นิ่วในไต ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ
- โรคในระบบกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
กล้ามเนื้อฉีกขาด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอักเสบ ข้อต่อกระดูกอุ้งเชิงกรานอักเสบ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานผิดปกติ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ฯลฯ
- โรคในระบบสืบพันธ์
โรคทางนรีเวชที่พบบ่อยและเกี่ยวข้องกับอาการปวดเนินหัวหน่าวในผู้หญิงได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกที่ปีกมดลูก มะเร็งรังไข่ อุ้งเชิงกรานอักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในอุ้งเชิงกราน ฯลฯ
ปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิง มีวิธีวินิจฉัยอย่างไร
การตรวจเช็กอาการปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิง มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ปวด ประวัติการเจ็บป่วย ระยะเวลาที่ปวด รวมถึงอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุความผิดปกติจากการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด รวมถึงอาจจำเป็นต้องตรวจเฉพาะทางอื่น ๆ ดังนี้
- การตรวจภายใน และอัลตราซาวด์ช่องคลอด
วิธีนี้เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกรานด้วยคลื่นเสียง ultrasound เพื่อให้เห็นอวัยวะภายใน เช่น มดลูก ปากมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ เป็นการตรวจหาเนื้องอก ซีสต์ ถุงน้ำ หรือมะเร็ง รวมทั้งความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาว รวมถึงอาจกำลังตั้งครรภ์เป็นต้น
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
วิธีนี้เป็นการตรวจหาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยการใช้เทคนิคการสอดท่อที่บริเวณส่วนปลายท่อจะมีกล้องติดเลนส์ เพื่อค้นหาติ่งเนื้อและก้อนเนื้อที่อาจพัฒนากลายเป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) หากตรวจพบแพทย์สามารถกำจัดทิ้งได้ทันที ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นทั้งการตรวจวินิจฉัยและรักษาในคราวเดียวกัน
- การตรวจอัลตราซาวด์ท้องส่วนล่าง
เป็นการตรวจหาความผิดปกติด้วยคลื่นเสียง ultrasound ภายในอวัยวะบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง อาทิ มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต รังไข่ ปีกมดลูก ไส้ติ่ง และลำไส้ใหญ่ เพื่อแปลงเป็นสัญญาณภาพ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้
ทั้งนี้หากเห็นสมควรแพทย์อาจพิจารณาเทคนิคเฉพาะทางอย่างเช่น การทำ MRI การตรวจ PET/CT เพื่อช่วยวินิจฉัยอาการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ปวดบริเวณหัวหน่าว มีวิธีรักษาอย่างไร
เมื่อทราบผลการวินิจฉัยอันเป็นต้นเหตุของอาการปวดบริเวณหัวหน่าวของผู้หญิง การรักษาอาจพิจารณาร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง เช่น สูตินรีแพทย์ แพทย์ระบบทางเดินอาหาร แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือแพทย์กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงนักกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถแบ่งวิธีรักษาตามอาการได้ 3 วิธีดังนี้
การรักษาด้วยการให้ยา
การรักษาด้วยการใช้ยา แบ่งเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีด ได้แก่ ยาแก้ปวดในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDS เช่น Naproxen, Ibuprofen กลุ่มยาฮอร์โมนเพศหญิง เช่น Progesterone (โปรเจสเตอโรน) หรือกลุ่มยาฮอร์โมน Androgen (แอนโดรเจน) สำหรับคนไข้ที่มีซีสต์รังไข่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือปวดประจำเดือนมาก ๆ ส่วนคนไข้ที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำการรักษาอาการดังกล่าว
รักษาด้วยการผ่าตัด
หากสาเหตุของอาการปวดหัวหน่าวเกิดจากซีสต์รังไข่ เนื้องอกมดลูก อุ้งเชิงกรานหย่อน หรือภาวะเหยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ
- การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic surgery) ข้อดีคือเจ็บน้อย แผลเล็ก ลดการเสียเลือด ฟื้นตัวเร็ว และลดอาการปวดหลังการผ่าตัด
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Abdominal Surgery) มักใช้ในคนไข้ที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ ซึ่งไปกดทับหรือเบียดอวัยวะข้างเคียง
การทำกายภาพบำบัด
เหมาะกับอาการปวดที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อและกระดูกผิดปกติ นอกจากช่วยฟื้นฟูอาการปวดแล้วยังเป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ที่ทำหน้าที่รองรับอวัยวะภายใน เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ปีกมดลูก กระดูกหัวหน่าว หรือลำไส้
ปวดบริเวณหัวหน่าวของผู้หญิง มีวิธีป้องกันอย่างไร
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาความเสี่ยงหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก หรือโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเดินหรือยืน หรือการยกของหนักเป็นเวลานาน ๆ
ปวดบริเวณหัวหน่าวของผู้หญิง แบบไหนควรรีบพบแพทย์
- ปวดบ่อย หรือปวดเรื้อรังไม่หาย
- ปวดรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ ได้
- ทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- อาการปวดที่มาพร้อมอาการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะปนเลือด
- อาการปวดพร้อมมีไข้ ปัสสาวะแสบขัด คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดอย่างมากระหว่างการตั้งครรภ์
อาการปวดบริเวณหัวหน่าว ในผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติหรือไม่
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวระหว่างตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่โดยทั่วไปแล้วอาการปวดไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และมักมาจากมดลูกที่ขยายตัว หรือการเคลื่อนไหวของอุ้งเชิงกรานในระหว่างตั้งครรภ์
ความเครียดทำให้ปวดบริเวณหัวหน่าวได้หรือไม่
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวในผู้หญิงอาจเกิดจากความวิตกกังวลส่งผลต่อความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วร่างกาย รวมทั้งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้รู้สึกไม่สบายและเจ็บปวด รวมถึงความเครียดจะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ทำให้เกิดอาการปวดและไม่สบายตัวมากขึ้นระหว่างมีประจำเดือน นอกจากนี้ความเครียดเรื้อรังยังส่งผลทำให้การอักเสบที่อุ้งเชิงกรานหรือกระเพาะปัสสาวะ มีระดับความรุนแรงและไวต่อความรู้สึกมากขึ้นได้ด้วย
สรุป
อาการปวดบริเวณหัวหน่าวผู้หญิง สามารถบอกถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยอาหาร ระบบกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงระบบสืบพันธ์ หากรู้จักเรียนรู้ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำ ก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรง หรือรักษาภาวะดังกล่าวได้เสียแต่เนิ่น ๆ แต่หากมีอาการปวดรุนแรง เป็นต่อเนื่องยาวนาน ทานยาแก้ปวดแล้วไม่หายเสียที และมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีไข้ ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะปนเลือด คลื่นไส้อาเจียน ควรรีบพบสูตินรีแพทย์เฉพาะทางในทันที ท้ายที่สุดนี้สำหรับท่านใดที่ไม่แน่ใจว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางนรีเวชหรือไม่ GENITIQUE CLINIC ยินดีเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกท่าน สามารถพูดคุยและปรึกษากับสูตินรีแพทย์เฉพาะทาง ดูแลด้านความงามจุดซ่อนเร้นและสุขภาพเพศได้โดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 062-924-4966 6 หรือ Line: @Genitiqueclinic เรายินดีให้บริการอย่างใกล้ชิดทุกเคสค่ะ