ทำความรู้จักภาวะ มีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน
อาการมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับผู้หญิงหลายคน แม้ว่าภาวะดังกล่าวอาจมีสาเหตุได้มากมาย ตั้งแต่ความผันผวนของฮอร์โมนที่ไม่เป็นอันตราย ไปจนถึงภาวะอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องพบแพทย์ เช่น การติดเชื้อหรือเนื้องอก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าไม่ควรละเลยหากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด บทความนี้จะพาไปสำรวจสาเหตุที่เป็นไปได้ของการมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ใช่ประจำเดือน ชี้ให้เห็นว่าอาการแบบไหนที่สามารถดูแลตัวเองได้ และแบบไหนควรต้องปรึกษาแพทย์
การมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน เกิดจากอะไร
เลือดออกจากช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุต่างก็มีระดับความรุนแรงไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และควรรีบปรึกษาแพทย์หากพบความผิดปกติดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อรับการวินิจฉัยและแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยสาเหตุของการมีเลือดออกทางช่องคลอด เกิดขึ้นได้หลายอาการดังนี้
-
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกกระปริดกระปรอย ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน หรืออีกประเด็นก็คือเกิดในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น วัยก่อนหมดประจำเดือน เป็นต้น
-
การตกไข่
ผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกเล็กน้อย หรือเลือดออกกระปริดกระปรอยในระหว่างการตกไข่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางของรอบประจำเดือน
-
เลือดออกจากการฝังตัวของตัวอ่อน
ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกเล็กน้อยเมื่อไข่ที่ได้รับการผสมฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก
-
การติดเชื้อ
การติดเชื้อในช่องคลอดหรือบริเวณปากมดลูก เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) เช่น หนองในเทียม หรือหนองในแท้ อาจทำให้มีเลือดออกได้ การติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับ STI เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ก็อาจทำให้มีเลือดออกได้เช่นกัน
-
เนื้องอกที่ปากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก
กรณีคนไข้มีก้อนซีสต์ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงบริเวณปากมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกก็อาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้
-
เนื้องอกในมดลูก
เนื้องอกในมดลูกเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกมาก หรือเลือดออกกระปริดกระปรอยระหว่างมีรอบเดือน
-
โรคปากมดลูกเจริญผิดปกติหรือมะเร็ง
การเปลี่ยนแปลงผิดปกติในเซลล์ของปากมดลูก (Cervical dysplasia) หรือเป็นมะเร็งปากมดลูก อาจทำให้เกิดเลือดออกโดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์
-
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ภาวะที่เนื้อเยื่อคล้ายกับเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตภายนอกมดลูก อาจทำให้เกิดเลือดผิดปกติและมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย
-
การแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
ในระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ หากมีเลือดออกอาจเป็นสัญญาณของการแท้งบุตร หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยเลือดจะไหลจากบริเวณจุดที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ภายนอกมดลูก
-
บาดแผลหรือการบาดเจ็บ
การบาดเจ็บที่บริเวณช่องคลอด หรือปากมดลูก มักเกิดจากกิจกรรมทางเพศ อาจทำให้เกิดเลือดออกได้เช่นกัน
-
ยา
ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด หรือยาที่กระทบต่อสมดุลของฮอร์โมน อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้
-
ขั้นตอนทางการแพทย์
การตรวจอุ้งเชิงกราน การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือการใส่ห่วงอนามัย บางครั้งอาจทำให้เกิดเลือดออกเล็กน้อยได้
มีเลือดออกเป็นลิ่มไม่ใช่ประจำเดือน อันตรายไหม
นอกจากภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือนแล้ว กรณีเลือดออกมีลักษณะเป็นลิ่มเลือด ถือเป็นกลไกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากลิ่มเลือดที่ผสมกับเลือดประจำเดือนมีมากเกินไป หรือมีลักษณะเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่เกิน 2 ซม. หรือมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ภาวะดังกล่าวอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นและควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
- เนื้องอกในมดลูก
- ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
- พังผืดในมดลูก (เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่)
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนไม่สมดุล
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งโพรงมดลูก
- โรคที่มีผลในการแข็งตัวของเลือด
วิธีป้องกันภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน
ภาวะมีเลือดออกที่ช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน แม้เป็นเรื่องที่น่ากังวลแต่ก็มีวิธีป้องกันอาการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ต่อไปนี้คือวิธีป้องกันโดยทั่วไปบางประการที่อยากแนะนำ
-
วิถีชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพ
รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีและธาตุเหล็กให้เพียงพอ เพื่อรักษาหลอดเลือดให้แข็งแรง และป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น โรคโลหิตจาง ซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกไม่ปกติได้ รวมถึงหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยในการควบคุมสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งสามารถป้องกันเลือดออกผิดปกติอันเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้
-
จัดการกับระดับฮอร์โมน
หากใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน โปรดตรวจสอบว่าใช้ยาอย่างถูกต้อง การลืมรับประทานยาหรือใช้ไม่ต่อเนื่องอาจทำให้เกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ รวมทั้งความเครียดที่มากเกินไป อาจรบกวนสมดุลของฮอร์โมน ส่งผลให้เลือดออกผิดปกติ
-
การตรวจสุขภาพช่องคลอดเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพช่องคลอดเป็นประจำทุกปี สามารถป้องกันเลือดออกผิดปกติจากภาวะช่องคลอดอักเสบ หรือโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ รวมถึงภาวะต่าง ๆ เช่น PCOS หรือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่อาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้
-
ระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับช่องคลอด
ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องคลอดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และไม่มีกลิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องคลอด กรณีมีเพศสัมพันธ์อาจใช้สารหล่อลื่นเพื่อป้องกันการฉีกขาดของช่องคลอด สำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน การใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์บำรุงช่องคลอด หรือการบำบัดด้วยเอสโตรเจน (หากแพทย์แนะนำ) สามารถป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกได้
มีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน อาการแบบไหนที่ต้องพบแพทย์
หากคุณมีเลือดออกจากช่องคลอดและไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับรอบเดือนหรือสาเหตุอื่น สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตตัวเองและประเมินสถานการณ์ ดังนี้ :
ตรวจสอบปริมาณเลือด : สังเกตปริมาณเลือด หากซึมผ่านผ้าอนามัยภายใน 1 ชั่วโมง หรือเลือดออกนานเกินกว่า 2-3 ชั่วโมง แสดงว่าต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ระดับความเจ็บปวด : หากรู้สึกปวดเกร็ง ปวดแปลบ ๆ บริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน ความเจ็บปวดที่รุนแรงอาจบ่งบอกถึงปัญหาที่ร้ายแรง
อ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะ : อาการเหล่านี้ ร่วมกับการมีเลือดออกมาก อาจบ่งบอกว่าคุณเสียเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้
ตกขาวผิดปกติ : หากมีตกขาวกลิ่นเหม็น หรือตกขาวสีผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
กิจกรรมทางเพศ : การมีเพศสัมพันธ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจทำให้เกิดเลือดออกได้ โดยเฉพาะถ้ามีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง หรือหากเป็นครั้งแรกจนเนื้อเยื่อภายในช่องคลอดเป็นแผลฉีกขาด
การติดเชื้อหรือภาวะทางการแพทย์ : ภาวะต่าง ๆ เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) เนื้องอกในมดลูก หรือการติดเชื้อ อาจทำให้มีเลือดออกไม่ปกติได้เช่นกัน
เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน : หากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว และยังมีเลือดออกทางช่องคลอดอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ได้เช่นกัน
สรุป
ภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจเป็นแค่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิตผู้หญิง อย่างไรก็ตามหากมีเลือดออกมากเกินไป หรือหาสาเหตุไม่ได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการวินิจฉัยทันที เพราะอาจมีโรคอื่น ๆ ที่ไม่คาดคิดซ่อนอยู่ สำหรับท่านใดที่ไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าข่ายมีเลือดออกผิดปกติหรือไม่ GENITIQUE CLINIC ยินดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย พร้อมให้คำแนะนำแก่คนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพทางเพศทุกท่าน เพราะที่นี่คือ คลินิกเฉพาะทางความงามจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 062-9244966 หรือ Line: @Genitiqueclinic เรายินดีให้บริการอย่างใกล้ชิดทุกเคสค่ะ