Genitique clinic

ยาสอดช่องคลอดคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร สอนวิธีใช้ที่ถูกต้อง

การใส่ยาสอดในช่องคลอดเป็นรูปแบบหนึ่งของการรักษาเฉพาะที่ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพทางนรีเวชต่าง ๆ แคปซูลหรือเม็ดยาขนาดเล็กเหล่านี้จะถูกใส่เข้าไปในช่องคลอด จากนั้นเม็ดยาจะค่อย ๆ ละลายและปล่อยสารออกฤทธิ์ที่สามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้ โดยทั่วไปแล้วการใช้ยาสอดในช่องคลอดมักใช้สำหรับการติดเชื้อ การบำบัดด้วยฮอร์โมน และแม้กระทั่งการคุมกำเนิด โดยเป็นวิธีการรักษาแบบเฉพาะจุดที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยารับประทาน ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจประเภทของยาสอด การใช้งาน ประโยชน์ และข้อควรพิจารณาอื่น ๆ พร้อมทั้งอธิบายว่ายาสอดเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของผู้หญิงอย่างไร มาติดตามกันได้เลยค่ะ

สารบัญ

ยาสอดช่องคลอดคืออะไร

ยาสอด หรือ ยาเหน็บช่องคลอด เป็นยาใช้สำหรับรักษาอาการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียในช่องคลอด มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายแคปซูลหรือวงรีคล้ายรูปไข่ มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการผิดปกติภายในช่องคลอด ยาสอดช่องคลอดมีหลายประเภท แต่ละประเภทสามารถอยู่ในช่องคลอดในระยะเวลาที่แตกต่างกัน นิยมใช้ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยภายในช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียได้ด้วยการรับประทานยาตามปกติ หรือผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้

Genitique clinic

ยาสอดแบ่งเป็นกี่ชนิด

ยาสอดแบ่งออกเป็น 3 ชนิดได้แก่

  1. ยาสอดช่องคลอด (Pessaries หรือ Vaginal Suppositories) : มีรูปลักษณ์คล้ายไข่ นิยมใช้รักษาภาวะติดเชื้อที่ช่องคลอด รักษาภาวะช่องคลอดแห้ง รวมถึงใช้คุมกำเนิดได้ด้วย
  2. ยาสอดทวารหนัก (Rectal Suppositories) : มีรูปลักษณ์กลม ๆ คล้ายกระสุน ใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ ท้องผูก โรควิตกกังวล คลื่นไส้ แพ้ท้อง ไบโพลาร์ ริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น
  3. ยาสอดท่อปัสสาวะ (Urethral Suppositories) : เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อย รูปลักษณ์ใกล้เคียงเมล็ดข้าว ใช้กับผู้ชายที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ยาสอดช่องคลอดมีข้อดีอะไร

ยาสอดช่องคลอดเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาภาวะติดเชื้อภายในช่องคลอดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีข้อดีดังต่อไปนี้

  • การรักษาโดยตรงและเฉพาะเจาะจง

เนื่องจากยาจะถูกวางไว้ในช่องคลอดโดยตรง จึงให้การรักษาเฉพาะที่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับอาการผิดปกติที่ช่องคลอด เช่น การติดเชื้อ ช่องคลอดแห้งหรือฝ่อ

  • ผลข้างเคียงน้อย

เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ที่บริเวณช่องคลอดเป็นหลัก สารเคมีในตัวยาจึงไม่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ทำให้ลดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงในร่างกาย

  • การดูดซึมเร็วขึ้น

เยื่อบุช่องคลอดมีความสามารถในการดูดซึมสูง ซึ่งทำให้ยาสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดหรือเนื้อเยื่อที่ต้องการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

  • ความสะดวก

สามารถใช้ยาสอดช่องคลอดที่บ้านได้ และโดยทั่วไปใส่ได้ง่าย ทำให้เป็นทางเลือกที่สะดวกสำหรับผู้หญิงหลาย ๆ คน

  • ทางเลือกที่ไม่รุกราน

สำหรับภาวะต่าง ๆ เช่น ช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดฝ่อ หรือความไม่สมดุลของฮอร์โมน ยาสอดช่องคลอดถือเป็นทางเลือกที่รุกรานน้อยกว่าขั้นตอน การฉีดยาหรือการผ่าตัด

  • ผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารน้อยลง

ยาสอดช่องคลอด ตัวยาจะไม่ผ่านระบบย่อยอาหาร หมายความว่าตัวยาจะไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบย่อยอาหาร จึงไม่มีความเสี่ยงต่ออาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรือปฏิกิริยาอื่นต่อระบบย่อยอาหารภายในร่างกาย

  • มีประสิทธิภาพต่อการรักษาการติดเชื้อในช่องคลอด

ยาสอดสามารถส่งยาไปยังบริเวณที่ติดเชื้อโดยตรง ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และลดเวลาการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อรา หรือแบคทีเรียวาจิโนซิส

  • การฟื้นฟูสมดุลของฮอร์โมน

ในกรณีของการหมดประจำเดือน ช่องคลอดแห้ง หรือการรักษาภาวะมีบุตรยาก ยาสอดที่ประกอบด้วยฮอร์โมน (เช่น เอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรน) สามารถช่วยฟื้นฟูสมดุลของฮอร์โมนและบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น อาการช่องคลอดแห้ง ไม่สบายตัว หรืออาการระคายเคือง

Genitique clinic

วิธีใช้ยาสอดช่องคลอดที่ถูกต้อง

  • อ่านฉลากยาข้างบรรจุภัณฑ์ให้เข้าใจก่อนใช้ยา
  • ขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระให้เรียบร้อยก่อนใช้ยาสอด เพื่อป้องกันการไหลออกของตัวยาจากการเบ่ง
  • ทำความสะอาดภายนอกอวัยวะเพศและบริเวณรอบ ๆ ให้เรียบร้อย
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
  • เตรียมยาให้พร้อม
  • นำยามาชุบน้ำสะอาดก่อน เพื่อให้เม็ดยาลื่นทำให้สามารถสอดใส่ในช่องคลอดได้ง่าย ในกรณีที่เม็ดยาเหลว ให้นำไปแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาหรือแช่ในน้ำแข็งให้ยาแข็งตัวพอที่จะสามารถใช้สอดได้
  • นอนหงาย โดยให้ชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง ถ่างขาออก เพื่อเปิดปากช่องคลอด
  • สอดหัวยาด้านแหลมเข้าไปในช่องคลอดช้า ๆ ลึก ๆ ทีละ 1 เม็ด
  • ใช้นิ้วดันยาสอดช้า ๆ ลึก ๆ จนถึงปากมดลูก (จะรู้สึกได้ว่า นิ้วชนกับอวัยวะคล้ายจมูก)
  • นอนนิ่ง ๆ ในท่าเดิมประมาณ 15 นาที เพราะยาอาจหลุดออกมาได้ รอให้ยาละลาย
  • เมื่อเหน็บยาเสร็จแล้ว แล้วล้างมือให้สะอาด

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • ห้ามนั่งยอง ๆ เพราะเสี่ยงทำให้ยาหลุด
  • ควรเก็บยาสอดไว้ที่อุณหภูมิห้อง
  • ยาสอดช่องคลอดสามารถใช้ขณะมีประจำเดือนได้
  • ระหว่างที่ใช้ยาสอดช่องคลอด ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในเวลาเดียวกัน
  • หากลืมใช้ยาสอด ให้ไปใช้ในวันถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ยาสอดช่องคลอดละลายในกี่ชั่วโมง?

ปกติแล้วอุณหภูมิร่างกายของคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทำให้สารเคลือบยาสอดสลายหรือละลายได้ภายใน 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับสารที่ใช้เคลือบ เช่น ไขมันจากเมล็ดโกโก้หรือเจลาติน หากเป็นไขมันจากเมล็ดโกโก้จะละลายในอุณหภูมิ 30-36 องศาเซลเซียส ส่วนเจลาตินจะละลายที่อุณหภูมิ 31-34 องศาเซลเซียส

ยาสอดจะอยู่ในช่องคลอดกี่วัน

ยาสอด หรือ ยาเหน็บช่องคลอด ใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในช่องคลอดยาที่มีประสิทธิภาพสารเคลือบยาควรละลายหลังสอดยาเข้าไปในช่องคลอดและนอนนิ่ง ๆ ประมาณ 15 นาที และเมื่อครบ 15 นาทีหรือเกินกว่านั้นเล็กน้อยเมื่อลุกขึ้นจะไม่มีตัวยาไหลออกมาจากช่องคลอด ข้อสังเกตการรักษาด้วยยาสอดสามารถรักษาติดต่อกันได้นาน 7 วัน (สูตินรีแพทย์จะเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม) เมื่อครบ 7 วันแล้วหากอาการยังไม่หาย ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจซ้ำและหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

Genitique clinic

ยาสอดช่องคลอดมีตัวยาอะไรบ้าง

ยาสอดช่องคลอดใช้รักษาการติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงรักษาอาการช่องคลอดแห้ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้คุมกำเนิดได้ด้วย สำหรับตัวยาที่บรรจุอยู่ในยาสอดมีหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่

  1. ยาโคลไทรมาโซล (Clotrimazole)

  • เป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อราสำหรับรักษาอาการคันผิวหนังบริเวณช่องคลอด หรือภายในช่องคลอด หรืออาการมีตกขาวสีขาวขุ่น
  • รักษาภาวะช่องคลอดติดเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ยีสต์ (Yeast)
  • ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
  1. ยามิโซพรอสทอล (Misoprostol)

  • ยาสอดชนิดนี้เป็นยายุติการตั้งครรภ์ กระตุ้นให้มดลูกเจ็บครรภ์คลอด โดยจะพิจารณาภาวะของแม่และทารกเป็นสำคัญ ยาสอดชนิดนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการตกเลือดและอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
  1. ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) และยา เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)

ทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นยาปฏิชีวนะที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย ใช้รักษาอาการดังต่อไปนี้

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ปากมดลูกอักเสบ, ช่องคลอดอักเสบ
  • รักษาอาการตกขาวผิดปกติ เหม็นกลิ่นคาวปลา
  • รักษาอาการปวดอุ้งเชิงกรานจากภาวะช่องคลอดอักเสบ

*หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้สมดุลในช่องคลอดเสียไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น 

ยาสอดช่องคลอดมีกี่ขนาด

โดยทั่วไปยาสอดช่องคลอดที่มีวางจำหน่ายในท้องตลอดจะมีขนาด 100 มิลลิกรัม ( 1 เม็ดใช้นาน 6 วัน), 200 มิลลิกรัม ( 2 เม็ดใช้นาน 3 วัน), และ 500 มิลลิกรัม ( 1 เม็ดใช้นาน 1 วัน)

ข้อแนะนำ การใช้ยาสอด 4 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี อาจเพิ่มระยะเวลาในการรักษานานขึ้น

ข้อเสียของการใช้ยาสอดช่องคลอด

การใช้ยาสอดมีข้อเสียหรือผลข้างเคียงอยู่บ้าง จึงควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจใช้ดังนี้

  • มีหลายขั้นตอนอาจทำให้เสียเวลามากกว่าการรับประทานยา
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะลำบาก ช่องคลอดแห้ง คัน หรือมีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
  • มีแผลพุพองหรือแผลในช่องคลอด
  • ไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เคยผ่าตัดช่องคลอด ทวารหนัก และท่อปัสสาวะ

ใครไม่ควรใช้ยาสอด

  • หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
  • มีประวัติแพ้ตัวยาที่ผสมอยู่ในยาสอด
  • ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 60 ปี

สรุป

ยาสอดช่องคลอด ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาอาการช่องคลอดติดเชื้อ ช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง และยังใช้คุมกำเนิดได้ด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ยาสอดควรใช้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น เพราะภายในช่องคลอดมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การใช้ยาบ่อยเกินไปทำให้แบคทีเรียชนิดดีตาย และไปทำลายสมดุลภายในช่องคลอดทำให้เกิดโทษต่อช่องคลอดได้ และยาสอดบางชนิดไม่สามารถหาซื้อมาใช้เองได้ จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อความปลอดภัย

บทความน่าสนใจ

Picture of แพทย์หญิง ธนวรรณ ศิริสุข

แพทย์หญิง ธนวรรณ ศิริสุข

Global Speaker and Trainer in Aesthetic Gynecology แพทย์ผู้สอนงานประชุมวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก และ American Board of Cosmetic Gynecology, U.S.A. (คนแรกของไทย)

บทความใหม่

ค้นหาข้อมูล

บริการของเรา