Genitique clinic

ยาเลื่อนประจำเดือนคืออะไร กินตอนไหน กินแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

ผู้หญิงหลายคนพบว่าบางสถานการณ์มีกิจกรรรมสำคัญและไม่ต้องการให้ประจำเดือนมากวนใจ ไม่ว่าจะเป็นวันหยุด วันสำคัญพิเศษ หรือช่วงสัปดาห์ที่แสนวุ่นวาย ในกรณีเช่นนี้ยาเลื่อนประจำเดือนเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่ายาเหล่านี้ทำงานอย่างไร ประสิทธิภาพของยาและควรใช้เมื่อใดเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ในบทความนี้ GENITIQUE CLINIC จะมาแนะนำว่ายาเลื่อนประจำเดือนทำงานอย่างไร ใช้เมื่อไหร่ถึงเหมาะสม และปัจจัยใดบ้างที่ต้องพิจารณาก่อนใช้ยาเหล่านี้ มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ค่ะ

สารบัญ

ยาเลื่อนประจำเดือน มีประโยชน์อย่างไร

ยาเลื่อนประจำเดือน คือ ยาในกลุ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ใช้เพื่อเลื่อนการมีรอบเดือนออกไปในช่วงสั้น ๆ โดยทั่วไปแล้วยานี้จะใช้ได้ผลสำหรับผู้ที่มีรอบเดือนมาเป็นปกติ กล่าวคือรู้ว่าประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่ มากี่วัน เพราะจะทำให้ทราบวันตกไข่ได้โดยประมาณ สำหรับยานี้เหมาะใช้กับผู้ที่ไม่ต้องการมีประจำเดือนในช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากเหตุการณ์พิเศษ เช่น การเดินทางไกล การเล่นกีฬา หรือเหตุผลส่วนตัวอื่น ๆ ที่หากปล่อยให้มีประจำเดือนในช่วงนี้จะใช้ชีวิตได้ยากลำบากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยาเลื่อนรอบเดือนไม่ใช่ยาคุมกำเนิด และไม่ควรใช้เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว

ยาเลื่อนรอบเดือนมีหลักการทำงานอย่างไร

ตัวยาที่ผสมอยู่ในยาเลื่อนประจำเดือน คือ (นอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone)) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่คล้ายกับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกายที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการมีประจำเดือน ยานี้จะช่วยรักษาระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่ให้ลดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอก ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นในระหว่างมีประจำเดือน พูดง่าย ๆ ก็คือยาเลื่อนรอบเดือนจะออกฤทธิ์โดยรักษาระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้สูงเอาไว้ เพื่อชะลอการมีประจำเดือนให้เลื่อนออกไปจนกว่าจะหยุดกินยานั่นเอง

ยาเลื่อนประจำเดือน เหมาะกับใคร

ยาเลื่อนประจำเดือนจะมีประสิทธิภาพและได้ผลดีต่อผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ และรู้วันมีประจำเดือนที่แน่นอน สำหรับคนที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่สามารถคาดเดาการมาของรอบเดือนได้ การกินยามักไม่ได้ผลเนื่องจากไม่รู้วันตกไข่ที่แน่ชัด สำหรับทางออกของผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ขอแนะนำว่าให้เลือกกินยาคุมกำเนิดแทนไปจนกว่าต้องการให้มีประจำเดือนจึงค่อยหยุดกิน (ยาคุมกำเนิดมีผลทั้งคุมกำเนิดและการเลื่อนรอบเดือน)

Genitique clinic

ยาเลื่อนประจำเดือน ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง

ยาเลื่อนประจำเดือน ก็เหมือนกับยาอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะปลอดภัยเมื่อใช้ในช่วงสั้น ๆ แต่หากใช้ต่อเนื่องยาวนานบางคนอาจพบอาการไม่พึงประสงค์ ดังนี้

ประจำเดือนมาไม่ปกติ : ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มาถี่แต่มาแบบกะปริบกะปรอย หรือบางรายอาจไม่มาเลย

อาการท้องอืดและการกักเก็บของเหลว : โปรเจสเตอโรนทำให้ร่างกายกักเก็บของเหลวมากขึ้น ทำให้เกิดอาการท้องอืดและไม่สบายตัว

อาการเจ็บเต้านม : เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บางคนอาจรู้สึกเจ็บหรือรู้สึกไวต่อความรู้สึกบริเวณเต้านม

อาการปวดหัว : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง

การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ : บางคนอาจรู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล หรืออารมณ์แปรปรวน คล้ายกับอาการ PMS

อาการคลื่นไส้ : อาจเกิดความรู้สึกไม่สบายทางเดินอาหารเล็กน้อยหรือคลื่นไส้ได้

มีเลือดออกกระปริดกระปรอย : แม้ว่ายาจะออกแบบมาเพื่อชะลอรอบเดือน แต่ผู้ใช้บางรายอาจพบเลือดออกกระปริดกระปรอยเล็กน้อย โดยเฉพาะถ้ารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ

สิวหรือผิวมัน : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดสิวหรือผิวมันมากขึ้น

ความต้องการทางเพศลดลง : บางคนอาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในความต้องการทางเพศของตน

ความเหนื่อยล้า : ผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเฉื่อยชาในผู้ใช้บางราย

Genitique clinic

ยาเลื่อนประจำเดือนไม่เหมาะกับใคร

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมาะกับการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะทางการแพทย์ หรือปัญหาสุขภาพอาจมีความเสี่ยงบางประการ บุคคลต่อไปนี้ขอแนะนำให้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้หรือใช้ยาด้วยความระมัดระวังภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

  • ผู้ที่มีประวัติการเกิดลิ่มเลือด

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เคยมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (DVT) เส้นเลือดอุดตันในปอด หรือโรคการแข็งตัวของเลือดอื่น ๆ ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพราะยาดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดได้

  • ผู้ป่วยภาวะหัวใจหรือระบบไหลเวียนโลหิต

ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้

  • โรคตับ

ผู้ที่มีอาการตับผิดปกติ หรือมีเนื้องอกที่ตับ ควรหลีกเลี่ยงยาเหล่านี้ เนื่องจากโปรเจสเตอโรนจะถูกเผาผลาญในตับ และจะทำให้ตับทำงานหนัก ซึ่งอาจทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น

  • มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งสืบพันธุ์

บุคคลที่มีประวัติส่วนตัวเป็นมะเร็งเต้านม มดลูก หรือรังไข่ ที่ไวต่อฮอร์โมน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเลื่อนรอบเดือน เพราะอาจทำให้มะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนรุนแรงขึ้นได้

  • ภาวะเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากผู้ใช้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือนจนกว่าจะหาสาเหตุของการมีเลือดออกพบและจัดการกับปัญหาได้แล้ว

  • เป็นไมเกรนขั้นรุนแรง

ผู้ที่มีอาการไมเกรนขั้นรุนแรงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอาจทำให้อาการปวดไมเกรนรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในบางกรณีได้เช่นกัน

  • หญิงตั้งครรภ์

ผู้ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน แม้ว่ายาจะไม่เป็นอันตรายในระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ แต่อาจส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการทางเพศที่ผิดปกติ เพราะตัวยาสามารถปนออกมากับน้ำนมแม่ได้ (ยังไม่มีรายงานการเกิดเคสดังกล่าว)

  • ปฏิกิริยาการแพ้

หากใครมีอาการแพ้ต่อฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหรือยาฮอร์โมนที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเลื่อนรอบเดือน

ข้อแนะนำ : ผู้ใช้ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ยาเลื่อนประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ยาจะไม่ส่งผลหรือก่อปัญหาแก่สุขภาพของท่าน

ยาเลื่อนประจำเดือน กินยังไง

ยาเลื่อนประจำเดือน ควรกินวันละ 2 เม็ด เช้าและเย็น โดยให้กินตามปริมาณที่กำหนด แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 10-14 วัน เพราะอาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย และรอบเดือนมาไม่ปกติได้ นอกจากนี้หลังหยุดกินยา ประจำเดือนจะยังไม่มาในทันทีไม่ต้องตกใจ โดยทั่วไปจะทิ้งช่วงประมาณ 2-3 วัน ประจำเดือนจึงจะกลับมาตามปกติ

ยาเลื่อนรอบเดือน กินตอนไหน

สำหรับผู้หญิงที่ต้องการเลื่อนการมีรอบเดือนปกติ ขอแนะนำว่าควรกินยาเลื่อนรอบเดือนล่วงหน้าก่อนมีประจำเดือนอย่างน้อย 4-5 วัน เพราะถ้ารับประทานช้ากว่านี้หรือในช่วงใกล้วันมีประจำเดือน อาจไม่ได้ผล ทั้งนี้ช่วงระหว่างใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพราะจะทำให้การดูดซึมยาลดลง ประสิทธิภาพในการเลื่อนรอบเดือนต่ำ

ยาเลื่อนประจำเดือน ยี่ห้อไหนดี

สำหรับยาเลื่อนประจำเดือนที่มีวางจำหน่ายในบ้านเรา ยี่ห้อที่คุ้นชื่อคุ้นหูกันเป็นอย่างดี อาทิ ยี่ห้อ Norca, Primolut-N และ Steron ฯลฯ

ยาเลื่อนประจำเดือน ราคาเท่าไหร่

สำหรับราคายาเลื่อนประจำเดือนขนาดยา 5 มิลลิกรัม ต่อ 1 เม็ด ราคาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ร้านค้า และสถานที่จำหน่าย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

  • ยี่ห้อ Norca แผงละ 50 บาทขึ้นไป (แผงละ 10 เม็ด)
  • ยี่ห้อ Primolut-N กล่องละ 200 บาทขึ้นไป (กล่องละ 2 แผง / แผงละ 15 เม็ด)
  • ยี่ห้อ Steron แผงละ 50 บาทขึ้นไป (แผงละ 10 เม็ด)

ยาเลื่อนประจำเดือน ซื้อที่ไหน

แม้ว่ายาเลื่อนประจำเดือนจะมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ เนื่องจากตัวยามีผลต่อฮอร์โมนในร่างกายจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร ดังนั้นให้ซื้อยาจากร้านขายยาชั้นนำที่มีเภสัชกรดูแล และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจึงเป็นการดีที่สุด

ยาเลื่อนประจำเดือน เลื่อนกี่วัน

การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือน เปรียบเสมือนการตั้งรอบเดือนใหม่แทนรอบปกติตามธรรมชาติ โดยอาศัยการใช้ยาเป็นตัวกำหนด ดังนั้นกำหนดระยะเวลาการเลื่อนของรอบเดือนจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้หยุดรับประทานยาเมื่อไหร่ ซึ่งโดยทั่วไปประจำเดือนจะเริ่มกลับมาเป็นปกติหลังหยุดยาประมาณ 2-3 วัน แต่หากหยุดใช้ยาเกิน 1 สัปดาห์แล้วประจำเดือนยังไม่มา ควรตรวจการตั้งครรภ์

กินยาเลื่อนประจำเดือน โดยไม่ทราบว่าท้องส่งผลอย่างไร

กรณีกินยาเลื่อนประจำเดือนโดยที่ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อพัฒนาการของอวัยวะเพศของทารกได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่พบรายงานดังกล่าว และไม่มีรายงานว่ายาทำให้ทารกพิการด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด

กินยาเลื่อนประจำเดือน แล้วมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกันจะท้องไหม

หลังกินยาเลื่อนประจำเดือนแล้วมีเพศสัมพันธ์โอกาสตั้งครรภ์มีน้อย เนื่องจากวิธีกินจะกินก่อนมีรอบเดือนอย่างน้อย 3-5 วันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผ่านช่วงไข่ตกมาแล้วนั่นเอง อย่างไรก็ตามการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อคุมกำเนิดยังคงเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด

สรุป

กล่าวโดยสรุปการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนมีประโยชน์และความจำเป็นในกรณีที่ไม่ต้องการมีรอบเดือนในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างเหตุการณ์พิเศษเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่ายาเลื่อนรอบเดือนจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้งาน จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีความจำเป็นต้องใช้จริง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ควรหลีกเลี่ยงหรืออยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด และที่สำคัญการเลื่อนรอบเดือนไม่ใช่ยาคุมกำเนิด และไม่ควรใช้เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว

บทความน่าสนใจ

Picture of แพทย์หญิง ธนวรรณ ศิริสุข

แพทย์หญิง ธนวรรณ ศิริสุข

Global Speaker and Trainer in Aesthetic Gynecology แพทย์ผู้สอนงานประชุมวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก และ American Board of Cosmetic Gynecology, U.S.A. (คนแรกของไทย)

บทความใหม่

ค้นหาข้อมูล

บริการของเรา