Genitique clinic

วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฉีดกี่ครั้ง ฉีดตอนไหนบ้าง

วัคซีนป้องกันไวรัส Human Papillomavirus หรือ วัคซีน HPV เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับไวรัส HPV เนื่องจากเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาต มะเร็งลำคอ หูดบริเวณอวัยวะเพศ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ ในบทความนี้ Genitiqueclinic.com จะมาแนะนำว่าวัคซีน HPV ทำงานอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ใครควรได้รับวัคซีนบ้าง และเหตุใดวัคซีนจึงมีบทบาทสำคัญในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว การเข้าใจถึงความสำคัญของวัคซีนนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับ HPV และส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาวได้ด้วย

วัคซีน HPV คืออะไร

วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม HPV ซึ่งไวรัสชนิดนี้บางสายพันธุ์เป็นตัวการก่อโรคในผู้หญิงและผู้ชาย อาทิ มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งปากช่องคลอด, มะเร็งทวารหนัก, หูดหงอนไก่, มะเร็งช่องปากและลำคอ และมะเร็งที่องคชาต ปัจจุบันวัคซีน HPV มีอยู่ 3 ชนิดคือ ชนิด 2 สายพันธุ์ (ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18), ชนิด 4 สายพันธุ์ (ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมาประเทศไทยได้มีวัคซีน HPV ตัวใหม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ในผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 9 ถึง 45 ปี ได้ครอบคลุมถึง 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6,11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58)

ทำความรู้จักกับเชื้อไวรัส HPV

ไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นกลุ่มไวรัสที่เกี่ยวข้องมากกว่า 200 ชนิด โดยส่วนใหญ่จะติดต่อกันผ่านการสัมผัสผิวหนัง รวมถึงกิจกรรมทางเพศ เชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด โดยเชื้อสามารถติดต่อกันได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แม้ว่าโดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันร่างกายสามารถกำจัดไวรัสได้เองโดยธรรมชาติ และมักจะไม่แสดงอาการใด ๆ อย่างไรก็ตามไวรัส HPV บางสายพันธุ์สามารถอาศัยอยู่ในร่างกายและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หนึ่งในนั้นก็คือไวรัส HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ช่องคลอด ปากช่องคลอด ทวารหนัก และคอหอย ส่วนสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ไวรัส HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 อาจทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศและภาวะที่ไม่ใช่เนื้อร้ายอื่น ๆ ได้

โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือช่องปาก และเนื่องจากผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการใด ๆ คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัว จึงเป็นเหตุผลที่ไวรัส HPV แพร่ระบาดได้มาก ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เกือบทั้งหมดจะติดไวรัส HPV อย่างน้อยหนึ่งชนิดในชีวิต โชคดีที่กรณีส่วนใหญ่ไม่นำไปสู่อาการป่วยร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงสูงยังคงอยู่ อาจทำให้เกิดเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ความเชื่อมโยงระหว่างไวรัส HPV และมะเร็งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการป้องกัน เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

ข้อควรรู้ : สำหรับประเทศไทยข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกได้คร่าชีวิตหญิงไทยเฉลี่ยวันละ 8-10 คน และมีการพบผู้ป่วยรายใหม่ถึงประมาณ 8,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อระหว่างวัย 35 ปี ไปจนถึงอายุ 50 ปี

Genitique clinic

ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกัน HPV

ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพในวัยเจริญพันธุ์ ขอแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการปกป้องสูงสุด ควรเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ที่พบความผิดปกติและเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่เคยเป็นหูดหงอนไก่ เป็นต้น

หมายเหตุ : หญิงตั้งครรภ์ไม่แนะนำให้ฉีด ในกรณีอยู่ระหว่างกำลังให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีน HPV ได้

วัคซีน HPV ฉีดกี่เข็ม อยู่ได้นานไหม

สำหรับการฉีดวัคซีน HPV จะถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายโดยจำนวนเข็มขึ้นอยู่กับอายุของผู้ฉีดเป็นหลัก ซึ่งหากฉีดครบตามกำหนด จะมีประสิทธิภาพการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้สูงถึง 90% และจะอยู่ได้นานกว่า 10 ปี โดยไม่ต้องทำการฉีดกระตุ้นแต่อย่างใด ซึ่งรายละเอียดของจำนวนเข็มในแต่ละช่วงวัยมีดังต่อไปนี้

  • เด็กและวัยรุ่น (อายุ 9-14 ปี)

การฉีดวัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ซึ่งจะช่วยให้ได้รับการป้องกันก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เข็มที่ 2 เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 5-13 เดือน

  • วัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 15 ปีขึ้นไป)

แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดในช่วงอายุน้อย แต่ผู้ใหญ่ตอนต้นอายุไม่เกิน 26 ปีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในช่วงก่อนหน้านี้ก็ยังสามารถรับวัคซีนได้  ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่สอง และเข็มที่สามฉีดห่างกัน 2 และ 6 เดือน

  • วัยผู้ใหญ่ (อายุ 27-45 ปี)

ผู้ใหญ่บางคนที่มีอายุระหว่าง 27 ถึง 45 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV อาจเลือกที่จะรับวัคซีนหรือไม่รับวัคซีนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะหลายคนอาจเคยสัมผัสกับไวรัสนี้มาก่อนแล้ว แต่หากแพทย์อนุญาตให้ฉีดเงื่อนไขการฉีดก็จะเหมือนกันกับกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไป คือ ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่สอง และเข็มที่สามฉีดห่างกัน 2 และ 6 เดือนตามลำดับ

Genitique clinic

ใครบ้างที่เสี่ยงรติดเชื้อไวรัส HPV

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือผ่านการตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน (ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย)
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ไม่สวมถุงยางอนามัย หรือสวมผิดวิธี
  • ผู้ที่ผ่านการตั้งครรภ์และมีบุตรหลายคน
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วัคซีนป้องกัน HPV 9 สายพันธุ์ราคาเท่าไหร่

สำหรับการฉีดวัคซีน HPV ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานพยาบาลทั่วประเทศที่มีให้บริการฉีดโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ซึ่งมีราคาที่แตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มที่ใช้และชนิดของวัคซีน ทั้งนี้แนะนำให้สอบถามข้อมูลอย่างละเอียดจากสถานพยาบาลก่อนการตัดสินใจค่ะ

สรุป

กล่าวโดยสรุปวัคซีนป้องกัน HPV มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้แก่ มะเร็งช่องคลอด ทวารหนัก องคชาต และลำคอ อันมีเชื้อไวรัส Human papillomavirus (HPV) เป็นพาหะนำโรค ซึ่งการฉีดวัคซีนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ยาวนานกว่า 10 ปี ทั้งยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในการปกป้องตัวคุณเองและคนที่คุณรักอีกด้วย

บทความน่าสนใจ

Picture of แพทย์หญิง ธนวรรณ ศิริสุข

แพทย์หญิง ธนวรรณ ศิริสุข

Global Speaker and Trainer in Aesthetic Gynecology แพทย์ผู้สอนงานประชุมวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก และ American Board of Cosmetic Gynecology, U.S.A. (คนแรกของไทย)

บทความใหม่

ค้นหาข้อมูล

บริการของเรา