หลั่งเร็วเกิดจากอะไร ไม่อยากรักสะดุดแก้ยังไง
ภาวะหลั่งเร็ว ถือเป็นปัญหาสุขภาพทางเพศที่สร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ชายทุกวัยและยังพบได้บ่อยที่สุดอีกด้วย ปัญหานี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างร้ายแรง ทำให้รู้สึกอับอาย หงุดหงิด ไร้ค่า ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความมั่นใจในตนเองของผู้ชายอย่างมาก จนบางครั้งกระทบต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดจากความเข้าใจผิด ทำให้เกิดระยะห่างทางอารมณ์ จนถึงขั้นอาจต้องยุติความสัมพันธ์ในที่สุด การแก้ไขปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใส่ใจ บทความนี้จะมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาหลั่งเร็วว่าเกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไขได้อย่างไรเพื่อคืนความมั่นใจและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่รักของคุณให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
ภาวะหลั่งเร็วหมายถึงอะไร
ในทางการแพทย์ได้นิยามความหมายของภาวะหลั่งเร็วเอาไว้โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่างดังนี้
- หลั่งหลังสอดใส่เร็วกว่า 60 วินาที (ผู้ชายปกติมีค่าเฉลี่ย 5.4 นาที)
- ไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้ตามความต้องการ
- ภาวะดังกล่าวก่อปัญหาโดยตรงต่อตนเองและคู่นอน (บางคู่อีกฝ่ายถึงจุดสุดยอดเร็วกว่าก็ถือว่าไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด)
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลั่งเร็ว
การหลั่งเร็ว Premature Ejaculation (PE) เป็นปัญหาทางเพศที่พบบ่อยในผู้ชาย มีลักษณะเฉพาะคือไม่สามารถควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิได้ทำให้เสร็จกิจเร็วกว่าที่ต้องการ ปัญหานี้มักทำให้เกิดความทุกข์และความหงุดหงิด สำหรับสาเหตุสามารถแบ่งได้อย่างกว้าง ๆ เป็นปัจจัยทางจิตวิทยาและทางชีววิทยาดังนี้
-
ปัจจัยด้านจิตวิทยา
ปัญหาความสัมพันธ์ : ความขัดแย้งหรือการขาดการเชื่อมโยงทางอารมณ์กับคู่ครองสามารถนำไปสู่การหลั่งเร็วได้
ประสบการณ์ทางเพศในระยะแรก : การปรับสภาพในช่วงมีเพศสัมพันธ์ในระยะแรก ๆ หรือขาดประสบการณ์ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ด้วยความเร่งรีบที่จะให้ถึงจุดสุดยอดของฝ่ายชาย อาจทำให้เกิดรูปแบบการหลั่งน้ำอสุจิเร็วเป็นนิสัย
ความเครียด : ความเครียดโดยทั่วไปในชีวิต ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับงาน การเงิน หรือชีวิตส่วนตัว อาจส่งผลเสียต่อสมรรถภาพทางเพศได้
ภาวะซึมเศร้า : ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า อาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองและการควบคุมทางเพศ
-
ปัจจัยด้านทางชีววิทยา
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน : ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ เช่น เทสโทสเตอโรนหรือเซโรโทนิน อาจส่งผลต่อการควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิ
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction หรือ ED) : ผู้ชายที่พยายามรักษาการแข็งตัวของอวัยวะเพศอาจรีบหลั่งก่อนที่จะสูญเสียการแข็งตัว
ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง : ระดับเซโรโทนินที่ต่ำในสมองมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิที่ลดลง
ปัญหาต่อมลูกหมาก : การติดเชื้อหรืออาการอักเสบของต่อมลูกหมาก (ต่อมลูกหมากอักเสบ) อาจทำให้เกิดการหลั่งเร็วได้
ปัจจัยทางพันธุกรรม : การศึกษาบางกรณีแนะนำว่าองค์ประกอบทางพันธุกรรมอาจส่งผลต่อแนวโน้มการหลั่งเร็ว
ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ : ทั้งภาวะไทรอยด์ทำงานมากและภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยมีความเกี่ยวข้องกับ PE
ความเสียหายของเส้นประสาท : ความเสียหายต่อเส้นประสาทองคชาตหรือภาวะทางระบบประสาทอื่น ๆ อาจขัดขวางการควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิ
หลั่งเร็วแก้ไขได้อย่างไร
ผู้ชายที่มีปัญหาภาวะหลั่งเร็วเป็นครั้งคราว อาจแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือระงับความตื่นเต้น แต่สำหรับคนที่มีอาการทุกครั้ง อาจนำวิธีเหล่านี้ไปทดลองปรับใช้ก็จะสามารถบรรเทาอาการหลั่งเร็วให้ดีขึ้นได้
- เล้าโลมให้นานขึ้น ไม่เร่งรีบที่จะสอดใส่
- หลั่งก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้สอดใส่ได้นานขึ้น
- Stop Pause Method หมายถึง ให้พักการสอดใส่ เมื่อรู้สึกว่าใกล้จะหลั่ง แล้วค่อยเริ่มใหม่
- Stop Squeeze Method หมายถึง เมื่อใกล้จะหลั่งให้บีบส่วนหัวองคชาต เพื่อให้อ่อนตัว ก่อนพักแล้วจึงเริ่มใหม่
- สวมถุงยางอนามัยที่หนากว่าปกติ เพื่อลดความรู้สึกลงซึ่งจะช่วยให้ชะลอการหลั่งให้นานขึ้นได้
- ใช้อุปกรณ์เสริมช่วยอย่างห่วงรัดโคนองคชาต (Cock ring) จะช่วยยืดระยะเวลาการหลั่งให้นานขึ้นได้
- ออกกำลังกายด้วยการฝึกขมิบก้นวันละ 10-15 ครั้ง แต่ละครั้งให้ขมิบค้างไว้ 5 วินาที
- ใช้สเปรย์หรือครีมระงับความรู้สึกบริเวณส่วนหัวและแกนองคชาต ควรทาก่อนมีเพศสัมพันธ์ 10-30 นาที
- รับประทานยาแก้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่น ซิลเดนาฟิล (ไวอากร้า), ทาดาลาฟิล, อะวานาฟิล
- ฉีดสารเติมเต็ม (กรดไฮยาลูรอนิค) ที่องคชาต โดยสารเติมเต็มจะทำให้ประสาทสัมผัสช้าลง เลยช่วยทำให้หลั่งช้า ทำให้การ Make Love มีความสุขได้ยาวนานขึ้น
จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยภาวะหลั่งเร็วหรือไม่ ?
โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เว้นแต่แพทย์สงสัยว่าปัญหาสุขภาพพื้นฐานกำลังก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว
ภาวะหลั่งเร็วอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ?
ภาวะหลั่งเร็วไม่เป็นอันตราย และไม่ใช่อาการเริ่มต้นของโรคร้ายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากไม่ได้รับการแก้ไข หรือต้องทนทุกข์ทรมานกับภาวะดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเครียดได้
หลั่งเร็วเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพหรือไม่ ?
ภาวะหลั่งเร็วอาจเป็นสัญญาณของโรคได้ เช่น ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, อาการปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง, โรคต่อมไทรอยด์
หลั่งเร็วกับหย่อนสมรรถภาพทางเพศต่างกันอย่างไร ?
ภาวะหลั่งเร็วกับหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น มีความแตกต่างกันกล่าวคือ ภาวะหลั่งเร็ว อวัยวะเพศยังสามารถแข็งตัวได้ตามปกติแต่ถึงจุดสุดยอดเร็วกว่าคู่ของคุณจนเกิดปัญหา ส่วนภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือภาวะที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ หรือไม่สามารถรักษาการแข็งตัวได้นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้จนเสร็จกิจ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 กรณีอาจมีความเชื่อมโยงกันได้อันเกิดจากเมื่อผู้ชายรู้ว่าการแข็งตัวของน้องชายไม่ดี จึงอาจสร้างนิสัยหลั่งเร็วก่อนที่การแข็งตัวจะหมดลงนั่นเอง
ภาวะหลั่งเร็วแม้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง เพราะทำลายความมั่นใจ กระทบความสัมพันธ์ อย่าปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวมาทำลายคุณภาพชีวิต ควรรีบจัดการกับปัญหาเสียแต่เนิ่น ๆ ด้วยตัวเองตามข้อแนะนำที่ให้ไว้ข้างต้น หรือปรึกษาสูตินรีแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและเข้ารับการบำบัดรักษาเฉพาะบุคคลต่อไป