แพ้ผ้าอนามัยมีอาการยังไง อันตรายไหม ป้องกันได้อย่างไร
การแพ้ผ้าอนามัย (Pad rash) แม้จะพบไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงบางคนได้ ภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศที่สัมผัสกับผ้าอนามัย ที่อาจใช้วัสดุที่ผลิตอย่างเช่น เส้นใยสังเคราะห์ น้ำหอม สารฟอกขาว แผ่นซึมซับ หรือแถบกาว ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย เมื่อนำไปใช้กับบริเวณที่บอบบางอย่างจุดซ่อนเร้น จึงมีอาการระคายเคือง คัน มีผื่นแดงขึ้น หรือบวม ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจแต่อย่างใด อาจลองเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยชนิดอื่น เช่น ผ้าอนามัยแบบไม่มีน้ำหอม หรือทำจากฝ้ายออร์แกนิก 100% หรือถ้วยอนามัยแทน เพื่อดูว่าอาการระคายเคืองจะทุเลาลงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ช่วยได้มาก อย่างไรก็ตามหากอาการยังคงอยู่หรือแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตัดสาเหตุการติดเชื้อหรือสาเหตุอื่น ๆ ในเนื้อหาของบทความนี้ GENITIQUE CLINIC คลินิกเฉพาะทางความงามจุดซ่อนเร้น จะมาไขคำตอบให้ได้ทราบกันว่า อาการแพ้ผ้าอนามัยมีสาเหตุที่แท้จริงมีกี่ประเภท อาการที่แสดงออกมีอะไรบ้าง วิธีป้องกัน รวมถึงควรพบแพทย์ตอนไหน มาหาคำตอบได้ในบทความนี้ค่ะ
สาเหตุของการแพ้ผ้าอนามัย
อาการแพ้ผ้าอนามัยมักเกิดจากความไวต่อสารบางอย่างที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ต่อไปนี้คือสาเหตุทั่วไปบางประการที่พบได้บ่อย
เส้นใยสังเคราะห์ : ผ้าอนามัยหลายชนิดทำจากเรยอน ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์ มีส่วนทำให้เกิดการระคายเคืองสำหรับบุคคลที่มีความไวต่อการสัมผัสเส้นใยดังกล่าว
น้ำหอมหรือสารเคมี : ผ้าอนามัยบางชนิดจะมีกลิ่นหรือสารเคมี เพื่อเพิ่มการดูดซับ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
แถบกาว : แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่หากผ้าอนามัยมีส่วนประกอบด้วยน้ำยาง ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ที่แพ้น้ำยาง
ไดออกซินและสารฟอกขาว : สารเคมีปริมาณเล็กน้อยที่ใช้ในกระบวนการฟอกขาว เช่น ไดออกซิน อาจทำให้บางคนเกิดการระคายเคืองได้
สวมผ้าอนามัยติดต่อกันเป็นเวลานาน : การสวมผ้าอนามัยติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการอับชื้น ซึ่งเป็นตัวการของผื่นคันและการอักเสบตามมาได้
แพ้ผ้าอนามัย อาการเป็นอย่างไร
การแพ้ผ้าอนามัยทำให้เกิดอาการทางกายภาพได้หลายอย่าง โดยปกติจะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับผ้าอนามัยซึ่งก็คือผิวหนังบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ โดยอาการแพ้เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักพบในผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือผู้ที่ใส่ผ้าอนามัยเป็นเวลานานมากกว่า สำหรับอาการโดยทั่วไปที่พบได้บ่อยมีดังนี้
อาการคัน : อาการคันอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงบริเวณรอบช่องคลอดหรือต้นขาส่วนใน
รอยแดง : ผิวหนังอาจแดง อักเสบ หรือระคายเคือง
ผื่น : ผื่นหรือตุ่มเล็ก ๆ อาจเกิดขึ้นในบริเวณที่แผ่นสัมผัสผิวหนัง
อาการบวม : อาการบวมเล็กน้อยถึงปานกลางที่บริเวณช่องคลอดหรือต้นขาส่วนใน
ความรู้สึกแสบร้อน : ความรู้สึกแสบร้อนหรือไม่สบายบริเวณที่สัมผัสกับผิวหนัง
ผิวแห้งหรือลอกเป็นขุย : ในบางกรณี ผิวอาจแห้งมากเกินไป จนเกิดการลอกเป็นขุย
อาการเจ็บปวด : จุดซ่อนเร้นอาจรู้สึกเจ็บ เมื่อถูกสัมผัสหรือเสียดสีกับกางเกงชั้นใน
แพ้ผ้าอนามัยแบบไหนควรพบแพทย์
โดยปกติแล้ว อาการแพ้ผ้าอนามัยจะหายได้เองภายใน 1-5 วัน หลังเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยที่ไม่มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือเลือกที่จะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ประจำเดือนชนิดอื่น เช่น ถ้วยอนามัย อย่างไรก็ตามหากอาการแพ้ยังคงอยู่ และเริ่มรุนแรงขึ้นโดยสังเกตได้จากเริ่มมีผื่นแดง อาการคันน้องสาว เป็นตุ่มที่อวัยวะเพศหญิง คล้ายสิว อาการแสบ บวม มีแผลถลอก หรือมีตกขาวสีเปลี่ยนไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยปัญหาโดยทันที เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซ่อนอยู่ได้
ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกกี่ชั่วโมง
เพื่อสุขอนามัยที่ดีขอแนะนำให้เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ส่วนผ้าอนามัยแบบสอดเปลี่ยนทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง การใส่ผ้าอนามัยนานเกินไป (แผ่นเดิม) ทำให้จุดซ่อนเร้นอับชื้นกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ในช่องคลอด หรือในทางเดินปัสสาวะได้
วิธีป้องกันอาการแพ้ผ้าอนามัยมีอะไรบ้าง
การป้องกันอาการแพ้ผ้าอนามัยก่อนอื่นเลยคุณต้องรู้ว่าวัสดุที่ใช้ผลิตผ้าอนามัยยี่ห้อที่คุณใช้ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพราะถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ต่อจากนั้นก็ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลจุดซ่อนเร้นในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งขั้นตอนต่อไปนี้อาจช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้หรือไม่สบายตัวจากการใช้ผ้าอนามัยแบบได้
-
เปลี่ยนยี่ห้อผ้าอนามัย
เลือกใช้ผ้าอนามัยที่ทำจากวัสดุที่ปราศจากสารระคายเคือง น้ำหอม อาจเลือกใช้ผ้าอนามัยออแกนิคแทน
-
เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ
ตามหลักแล้วช่วงที่มีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 4 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงความอับชื้นอันเป็นสาเหตุของผื่นคัน และผิวหนังอักเสบ
-
หลีกเลี่ยงการเกา
หากมีอาการคันห้ามเกาเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผิวแสบไหม้ หรือระคายเคืองได้ ควรใช้วิธีประคบเย็น หรือแช่น้ำอุ่นราว 5-10 นาที ก็จะช่วยบรรเทาอาการคันได้
-
เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ประจำเดือนชนิดอื่น
อีกวิธีที่จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการแพ้ผ้าอนามัยได้ก็คือ การเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ประจำเดือนชนิดอื่น เช่น ถ้วยอนามัย ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสผิวบริเวณอวัยวะเพศ
-
ดูแลจุดซ่อนเร้นให้สะอาด
หมั่นทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น รวมถึงกางเกงชั้นในให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ เลือกวิธีทำความสะอาดน้องสาวอย่างอ่อนโยน ใช้สบู่อ่อน ๆ ที่ไม่ทำลายค่า pH ของช่องคลอด หลีกเลี่ยงการสวนล้าง
-
ใช้ยาลดอาการคัน
ยกแก้คัน เช่น ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือ ยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) สามารถบรรเทาอาการแพ้อย่างได้ผล อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีข้อจำกัดการใช้ยา
-
ปรึกษาแพทย์ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ
หากคุณมีอาการระคายเคืองหรือปฏิกิริยาต่าง ๆ บ่อยครั้งจากการใช้ผ้าอนามัย ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ หรือแพทย์ผิวหนัง แพทย์อาจแนะนำผ้าอนามัยยี่ห้อที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้โดยเฉพาะ หรือแนะนำผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในช่วงมีประจำเดือนอื่น ๆ สำหรับใช้แทน
สรุป
หากคุณรู้สึกคัน บวม แดง หรือรู้สึกไม่สบายจุดซ่อนเร้นหลังใช้ผ้าอนามัย อาจเป็นไปได้ว่าคุณแพ้หรือไวต่อส่วนประกอบเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง การเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยแบบออร์แกนิก 100% หรือพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น ถ้วยอนามัย อาจช่วยบรรเทาอาการได้ หากอาการยังคงอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป