โรคจูบคืออะไร เรียนรู้อาการและวิธีป้องกัน
โรคจูบ (Kissing Disease) หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส เป็นโรคไวรัสที่พบบ่อย เกิดจากไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr (EBV)) มักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การจูบ การหอม ไอ จาม หรือ การสัมผัสสารคัดหลั่ง ผู้คนมักเข้าใจว่าโรคนี้มักเกิดกับวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แต่แท้จริงแล้วสามารถติดต่อกับเด็กทารกได้ด้วย เช่น การหอมแก้มลูกน้อยของคุณ ในบทความนี้เราจะเจาะลึกถึงสาเหตุ อาการ การแพร่เชื้อ และการป้องกันของโรคนี้ที่น่าสนใจและข้อมูลที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด มาติดตามกันได้ในบทความนี้
โรคจูบเกิดจากสาเหตุใด
อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส หรือ โรคจูบ เกิดจากไวรัส Epstein-Barr (EBV) ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มเริม เป็นหนึ่งในไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก สำหรับการแพร่กระจาย กระบวนการรับเชื้อของไวรัสชนิดนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
การแพร่เชื้อ
- ไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายผ่านทางน้ำลายเป็นหลัก นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมักเกี่ยวข้องกับการจูบ
- วิธีการแพร่เชื้ออื่น ๆ ได้แก่ การสัมผัสอุปกรณ์ของใช้ร่วมกันที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน หลอดน้ำ มีดโกน หรือสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนน้ำลายจากการไอหรือจามลดกัน หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์
- ในบางกรณี ไวรัส EBV สามารถแพร่กระจายผ่านการถ่ายเลือดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะได้เช่นกัน
กระบวนการติดเชื้อ
- เมื่อไวรัส EBV เข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปติดเชื้อในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเบต้า ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง
- ไวรัสจะจำลองและกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการเฉพาะของโรคโมโนนิวคลีโอซิส
การติดเชื้อแฝง
- หลังจากการติดเชื้อในระยะเริ่มแรก ไวรัส EBV จะยังคงอยู่ในร่างกาย
- ในกรณีส่วนใหญ่ไวรัสจะไม่กลับมาแพร่ระบาดได้อีกแต่จะยังอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอเชื้อไวรัสนี้จะกลับมากำเริบอีกครั้ง
ไม่ใช่ทุกคนที่สัมผัสกับไวรัส EBV แล้วจะมีอาการของโรคโมโนนิวคลีโอซิส เพราะผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะเด็ก อาจติดเชื้อไวรัสได้แต่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย อาการจะเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อได้รุนแรงขึ้นนั่นเอง
โรคจูบมีอาการอย่างไร
ลักษณะอาการของโรคนี้มีลักษณะคล้ายกับโรคหวัดทั่ว ๆ ไป แยกค่อนข้างลำบาก จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อจากการตรวจเชื้อเท่านั้น สำหรับอาการที่พบได้โดยทั่วไปของโรคจูบมีดังนี้
- อ่อนเพลีย
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- เบื่ออาหาร
โรคจูบหายเองได้ไหม
โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส หรือ โรคจูบ สามารถหายได้เองภายใน 3-4 วัน โดยไม่ต้องใช้ยารักษา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่อาการรุนแรง โดยอาจสังเกตว่ามีต่อมน้ำโตจนสังเกตได้ ร่วมถึงตรวจร่างกายแล้วพบว่า ม้ามโต ตับโต หรือมีจุดสีขาวขึ้นที่ต่อมทอนซิลให้ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ภาวะหายใจไม่ออก ดีซ่าน ตับอักเสบ หรือโลหิตจาง
วิธีป้องกันไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr (EBV))
เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดจาก “โรคจูบ” (โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส) คือหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับไวรัส Epstein-Barr (EBV) ซึ่งเป็นสาเหตุของการก่อโรค
- หลีกเลี่ยงการจูบกับผู้ที่กำลังป่วย หรือกำลังหายจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน เนื่องจากไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์
- โปรดเข้าใจว่าแม้ว่าจะหายจากโรคแล้ว ผู้คนก็อาจยังคงขับเชื้อไวรัสออกมาทางน้ำลายเป็นระยะ ๆ
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสปากหรือใบหน้า
- ส่งเสริมให้เด็ก ๆ หลีกเลี่ยงการนำสิ่งของ เช่น ของเล่นเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการแบ่งปันสิ่งของส่วนตัว
- อย่าใช้แก้วดื่มน้ำ อุปกรณ์ หลอดดูด แปรงสีฟัน หรือผลิตภัณฑ์สำหรับริมฝีปากร่วมกัน เพราะอาจมีน้ำลาย หรือสารคัดหลั่งแพร่กระจายอยู่
- กินร้อน ช้อนกลาง อย่างเคร่งครัด
- ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการติดเชื้อ รับประทานอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียด
โรคจูบ กับ โรคเริม ต่างกันอย่างไร
แม้ว่า “โรคจากการจูบ” (โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส) และโรคเริม จะมีความคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เกิดจากไวรัสในตระกูลไวรัสเริม แต่โรคทั้ง 2 โรคนี้มีความแตกต่างกัน โดยมีสาเหตุ อาการ และช่องทางการติดต่อที่แตกต่างกันดังนี้
-
สาเหตุของการเกิดโรค
โรคจูบ (โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส) : เกิดจากไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr (EBV)) ที่มุ่งเป้าไปที่เบต้าเซลล์(B-Cell) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่พบในระบบน้ำเหลือง
โรคเริม : เกิดจากเชื้อไวรัสเริม Herpes simplex (HSV) มักทำให้เกิดโรคเริมภายในช่องปาก (HSV-1), โรคเริมที่อวัยวะเพศ (HSV-2)
-
ลักษณะอาการที่พบ
โรคจูบ : อาการของโรคจะส่งผลต่อร่างกายทั้งระบบ มักพบว่าผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต บางครั้งอาจมีผื่นขึ้น มักจะหายได้ในไม่กี่สัปดาห์ อย่างไรก็ตามอาการเหนื่อยล้าอาจคงอยู่ได้นานหลายเดือน
โรคเริม : ส่งผลต่อร่างกายบริเวณที่ติดเชื้อ มักเป็นแผลตุ่มพองและเจ็บที่ภายในช่องปาก ริมฝีปาก อวัยวะเพศหรือทวารหนัก มีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นซ้ำเป็นระยะ ๆ
-
ลักษณะการติดเชื้อ
โรคจูบ : ติดเชื้อผ่านทางน้ำลายเป็นหลัก สามารถแพร่กระจายผ่านการใช้ภาชนะ สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือการสัมผัสน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง
โรคเริม : ติดเชื้อผ่านทางผิวหนังจากการสัมผัสเชื้อไวรัสโดยตรง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์
-
การเกิดซ้ำของโรค
โรคจูบ : เชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่ในร่างกายผู้ป่วยไปตลอดชีวิต แต่จะไม่แสดงอาการกำเริบ อย่างไรก็ตามหากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอเมื่อไหร่ อาการของโรคก็จะกลับมาได้
โรคเริ่ม : เชื้อไวรัส HSV จะยังคงแฝงอยู่ตลอดชีวิต แต่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกบ่อยครั้ง ทำให้เกิดแผลหรือตุ่มพองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
-
การรักษา
โรคจูบ : ไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโดยเฉพาะ การดูแลเน้นไปที่การรักษาแบบบรรเทาอาการ เช่น การพักผ่อน การดื่มน้ำมาก ๆ และกินยาลดไข้
โรคเริม : รักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของการเกิดอาการ
แม้ว่าทั้ง 2 โรคจะเกิดจากไวรัสเริม แต่ EBV แพร่กระจายผ่านน้ำลายเป็นหลัก ในขณะที่ HSV ทำให้เกิดการระบาดในบริเวณเฉพาะ (แผลในช่องปากหรืออวัยวะเพศ) และแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรง
โรคจูบมีวิธีรักษาอย่างไร
โรคจากการจูบไม่มียาหรือวัคซีนรักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถจัดการกับอาการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการดูแลแบบประคับประคองดังต่อไปนี้
การพักผ่อน : การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง
การดื่มน้ำ : ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ
กินยาบรรเทาอาการปวด : ยาแก้ปวดที่ซื้อเองได้ เช่น อะเซตามิโนเฟนหรือไอบูโพรเฟน สามารถช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายหรือเจ็บคอได้
กินยาบรรเทาอาการเจ็บคอ : การกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ หรือใช้ยาอมแก้เจ็บคอสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก : ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กีฬาที่มีการปะทะกันเป็นเวลาจนกว่าอาการจะหายดี เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ม้ามจะโตและอาจแตกได้
โรคจูบมีระยะเวลาการฟื้นตัวนานแค่ไหน
อาการมักจะคงอยู่ประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ แต่อาการเหนื่อยล้าอาจคงอยู่นานถึงหลายเดือนในผู้ติดเชื้อบางราย
เมื่อใดควรไปพบแพทย์
หากอาการแย่ลงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก ปวดท้องรุนแรงหรือตัวเหลือง ควรไปพบแพทย์ทันที โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส หรือ โรคจูบ อาจไม่ใช่โรคติดต่อที่รุนแรง แต่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายหากขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง นอกจากนี้อาการของผู้ป่วยที่แสดงออก จะมีลักษณะคล้ายกับโรคไข้หวัดอย่างมาก ดังนั้นหากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้ตัวเองว่าเข้าข่ายมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr (EBV)) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคจูบ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ และหาวิธีหลีกเลี่ยงในการเป็นตัวกลางแพร่เชื้อสู่คู่ของคุณหรือครอบครัวต่อไป
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคจูบ
โรคจูบคืออะไร?
โรคจูบ (Kissing Disease) หรือโรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส เกิดจากไวรัส Epstein-Barr (EBV) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อผ่านน้ำลาย การจูบ หรือสัมผัสสารคัดหลั่งอื่น ๆ ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย ไข้ เจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองบวม
โรคจูบมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคจูบ ได้แก่ อ่อนเพลีย ไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวม เบื่ออาหาร และบางครั้งอาจมีม้ามโต อาการเหล่านี้มักจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป
โรคจูบหายเองได้ไหม?
โรคจูบสามารถหายได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ควรพบแพทย์เพื่อรับการดูแลเพิ่มเติม
วิธีป้องกันโรคจูบทำได้อย่างไร?
วิธีป้องกันโรคจูบ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการจูบหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หรือแปรงสีฟัน และรักษาความสะอาดล้างมือบ่อย ๆ
โรคจูบต่างจากโรคเริมอย่างไร?
โรคจูบเกิดจากไวรัส Epstein-Barr (EBV) แพร่กระจายผ่านน้ำลายและสารคัดหลั่ง ในขณะที่โรคเริมเกิดจากไวรัส Herpes simplex (HSV) โดยมักทำให้เกิดตุ่มพองที่ช่องปากหรืออวัยวะเพศ