โรคเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง เรียนรู้เกี่ยวกับอาการและวิธีป้องกันที่ถูกต้อง
โรคเพศสัมพันธ์ Sexually Transmitted Diseases (STDs) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญสำหรับคู่รักและสามี ภรรยาทุกคู่ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงอารมณ์และความสัมพันธ์อีกด้วย และอาจส่งผลร้ายแรงในระยะยาวหากไม่ได้รับการรักษา เช่น ทำให้มีบุตรยาก มีอาการปวดเรื้อรัง และมีความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ มากขึ้น การทำความเข้าใจความเสี่ยง เรียนรู้วิธีป้องกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี บทความนี้ Genitiqueclinic.com จะกล่าวถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผลกระทบต่อสุขภาพ และมาตรการป้องกันที่ควรปฏิบัติ เพื่อปกป้องตนเองและคู่รักของคุณให้ห่างไกลจากโรคร้ายที่คอยบ่อนทำลายสุขภาพและความสัมพันธ์ในอนาคต
โรคเพศสัมพันธ์คืออะไร
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีชื่อเดิมคือ “กามโรค” (Venereal Disease) เป็นกลุ่มโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อหรือเป็นโรคอยู่แล้ว ผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก ในปัจจุบันมีการพบโรคในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) แทน ซึ่งโรคที่สำคัญได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซิฟิลิส และเอชพีวี เป็นต้น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้แก่
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ หรือน้ำในช่องคลอด สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน นอกจากนี้ยังติดต่อกันได้จากการใช้ของใช้ร่วมกันอีกด้วย
ระยะฟักตัว : 2 – 7 วัน
อาการ : ในผู้ป่วยชายจะมีอาการหนองข้นไหลออกจากท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ส่วนผู้ป่วยหญิงมักไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีอาการน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจลุกลามทำให้ท่ออสุจิตีบตัน ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นหมัน อุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน ปวดตามข้อ ผื่นขึ้นตามลำตัวและเยื่อบุ ปวดตามข้อ
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน สามารถแพร่กระจายทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก ตา และจากแม่สู่ทารกในครรภ์
ระยะฟักตัว : เฉลี่ย 7 วัน
อาการ : มักมีอาการหนองใส ๆ ไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนลักษณะเดียวกันกับโรคหนองในแท้ได้
-
ซิฟิลิส
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ทวารหนัก การทำออรัลเซ็กส์ (Oral sex) หรือจากแม่สู่ทารกระหว่างการตั้งครรภ์
ระยะฟักตัว : 10 – 90 วัน (เฉลี่ย 21 วัน)
อาการ : แบ่งออกเป็น 4 ระยะตามความรุนแรง ระยะที่ 1 จะเป็นแผลเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนที่ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอด หากไม่ได้รับการรักษาจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะออกดอก อาการจะปรากฎภายใน 3-12 สัปดาห์หลังติดเชื้อ เป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด ลักษณะของผื่นอาจมีตั้งแต่นูนหนามีสะเก็ด เป็นแผลหลุมกดไม่เจ็บกระจายทั่วร่างกาย อาจมีไข้ ปวดข้อ ผมร่วง ต่อมน้ำเหลืองโต ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาอีกโรคจะเข้าสู่ระยะสงบไม่แสดงอาการแต่ว่าหลังจากนั้นอีกหลายปีจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งจะแสดงอาการรุนแรง ผิวหนังเป็นก้อนนูนแตก ตาบอด หูหนวก กระดูกอักเสบ สมองพิการ เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง ลิ้นหัวใจรั่ว และเสียชีวิตในที่สุด
-
เริม
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex virus ติดต่อผ่านการสัมผัสกับสามารถติดเชื้อได้ง่าย เช่น ผิวหนัง ปาก บริเวณอวัยวะเพศ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
ระยะฟักตัว : 2 – 14 วัน
อาการ : มีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นเป็นกลุ่มตามร่างกาย บางรายมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ริมฝีปาก ในช่องปาก ร่วมกับอาการปวด แสบ และคันบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เมื่อติดเชื้อเริมแล้วเชื้อจะหลบอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต เมื่อเวลาร่างกายอ่อนแอโรคจะกลับมากำเริบขึ้นได้
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัส Human papilloma virus ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโดยตรง
ระยะฟักตัว : 3 เดือน จนถึงหลายปี
อาการ : เชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์แต่สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำไม่ทำให้เกิดมะเร็ง กับ กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความสูงที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนัก สำหรับอาการส่วนใหญ่หลังติดเชื้อผู้ป่วยจะมีหูดหงอนไก่กระจายตัวอยู่ตามอวัยวะเพศภายนอก รวมถึงอาจมีตกขาวกลิ่นเหม็นรุนแรง หรืออาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยจากช่องคลอด สำหรับความน่ากลัวของโรค HPV คืออาจไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็นเลย แต่พอเริ่มมีอาการปรากฏมักกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามไปแล้ว ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
-
เอชไอวี (เอดส์)
สาเหตุ : การติดเชื้อ HIV ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำอสุจิ เลือด น้ำเหลือง สารหล่อลื่นตามธรรมชาติในช่องคลอด จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัมผัสกับเลือดหรือน้ำเหลือง การรับบริจาคเลือด รวมถึงติดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ และการให้นมบุตร
ระยะฟักตัว : 2-10 ปีหรือมากกว่า
อาการ : ระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อมักไม่แสดงอาการใด ๆ จนเข้าสู่ช่วง 5-10 ปีโดยประมาณ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ติดเชื้อจะอ่อนแอลงและเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นแผลในช่องปาก ฝ้าขาวที่ลิ้น เชื้อราที่เล็บ เริมที่ปาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักตัวลด งูสวัด ปอดอักเสบ และเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 ระยะสุดท้ายมักเกิดโรคแทรกซ้อน และโรคติดเชื้อรุมเร้าพร้อม ๆ กัน เช่น วัณโรค ปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส ไอเป็นเลือด ตาพร่ามัว หลอดอาหารอักเสบ กลืนอาหารลำบาก ตัวเนื้อเขียวเป็นจ้ำ ผู้หญิงมีตกขาวบ่อย หลงลืมง่าย แขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยมักมีชีวิตได้ 2-3 ปีก่อนเสียชีวิต
-
พยาธิในช่องคลอด
สาเหตุ : ติดเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า Trichomonas vaginalis ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ติดเชื้อ
ระยะฟักตัว : 5-28 วัน
อาการ : มีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวเป็นฟอง และอาจส่งกลิ่นเหม็นคาวปลา มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด บวม แดง คัน หรือรู้สึกแสบบริเวณอวัยวะเพศ ปวดปัสสาวะบ่อย เจ็บปวดขณะปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์ หากเป็นแล้วไม่รีบรักษามีโอกาสลุกลามไปยังท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และในระยะยาวมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก และทำให้มีบุตรยาก
-
ไวรัสตับอักเสบ บี
สาเหตุ : ติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน หรือผ่านทางเลือด การใช้เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน การสัก และจากแม่สู่ลูก
ระยะฟักตัว : 2-3 เดือน
อาการ : ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่ออาหาร มีไข้ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปวดตามข้อ คลื่นไส้อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม
ในประเทศไทยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ดูได้จากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความตระหนักถึงอันตรายของโรค และขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15–24 ปีมีสัดส่วนการป่วยมากที่สุด
ใครบ้างที่เสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่เคยมีประวัติเคยป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต ผู้ที่ใช้สารเสพติด และผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?
หากคุณสงสัยว่าตนเองเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการทันที เพื่อปกป้องการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ต่อไปนี้คือคำแนะนำทีละขั้นตอนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำ
1. จดจำอาการที่เป็นสัญญาณทั่วไปของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- มีตกขาว หรือ ตกขาวผิดปกติ
- ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ
- มีแผลพุพองหรือผื่นที่อวัยวะเพศหรือบริเวณโดยรอบ
- มีอาการคัน บวม หรือแดงบริเวณอวัยวะเพศ
- มีอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบวม
หมายเหตุ:โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายชนิดอาจไม่มีอาการ ดังนั้นการตรวจคัดกรองเป็นประจำจึงมีความสำคัญหากคุณมีเพศสัมพันธ์
2. แจ้งให้คู่ของคุณทราบและหยุดกิจกรรมทางเพศ
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าคุณจะได้รับการตรวจวินิจโดยละเอียดแล้วว่าไม่ติดเชื้อ วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังคู่ของคุณได้ดีที่สุด
3. ไปพบแพทย์
พบสูตินรีแพทย์ แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือคลินิกสุขภาพทางเพศ ที่สามารถทำการทดสอบที่จำเป็นได้ แพทย์อาจทำการตรวจปัสสาวะสำหรับโรคหนองใน ตรวจเลือดสำหรับการติดเชื้อ เช่น HIV ซิฟิลิส หรือเริม
4. ปฏิบัติตามแผนการรักษา
หากการวินิจฉัยพบว่าติดเชื้อให้ปฏิบัติตามการรักษาอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส และถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว ก็ยังคงให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งทั้งหมดให้ครบถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำหรือการดื้อยา
5. การติดตามอาการ
การทดสอบซ้ำโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น หนองใน จำเป็นต้องได้รับการทดสอบซ้ำหลังจากการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าการติดเชื้อได้หายดีแล้ว หากอาการยังคงอยู่หรือแย่ลง ควรขอคำแนะนำทางการแพทย์เพิ่มเติม
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาหายขาดหรือไม่ ?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยาหรือฉีดยาปฏิชีวนะจนครบตามแพทย์สั่ง ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เริม และ เอชพีวี การรักษาจะใช้วิธีควบคุมอาการแต่จะไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปจากร่างกายได้ เชื้อจะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการกลับมากำเริบของโรคในอนาคต
วิธีป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- การมีคู่นอนคนเดียว (ที่ไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้
- หญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย ควรตรวจหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง รวมถึงตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
- เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สำหรับผู้ที่มีอายุ 9-45 ปี
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคเพศสัมพันธ์คืออะไร?
โรคเพศสัมพันธ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) คือกลุ่มโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม และเอชไอวี ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โรคเพศสัมพันธ์มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเพศสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค เช่น มีตกขาวผิดปกติ, ปัสสาวะแสบขัด, แผลพุพองที่อวัยวะเพศ, ผื่นแดง หรือมีไข้ โดยบางโรคอาจไม่มีอาการในระยะแรก
โรคเพศสัมพันธ์รักษาหายขาดได้หรือไม่?
โรคเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น หนองในแท้ และซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนโรคที่เกิดจากไวรัส เช่น เริม และเอชพีวี ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้
ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร?
การป้องกันโรคเพศสัมพันธ์สามารถทำได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์, การตรวจสุขภาพประจำปี, และการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV
ควรทำอย่างไรหากสงสัยว่าติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?
หากสงสัยว่าติดโรคเพศสัมพันธ์ ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์ แจ้งคู่ของคุณ และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะคู่สามี ภรรยา หรือคู่รักที่ต้องการวางแผนครอบครัว ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเองและคนที่คุณรัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพทางเพศ GENITIQUE CLINIC ยินดีเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะที่นี่คือคลินิกเฉพาะทางความงามจุดซ่อนเร้นและสุขภาพทางเพศ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 062-924-4966 หรือ Line: @Genitiqueclinic เรายินดีให้บริการอย่างใกล้ชิดทุกเคสค่ะ